Skip to content

ผ่าฟันคุด

ฟันคุด คืออะไร

          โดยปกติคนเราจะมีฟันกรามทั้งหมด 12 ซี่ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ฟันกรามซี่ที่ 1, ฟันกรามซี่ที่ 2 และฟันกรามซี่ที่ 3  โดยฟันคุด คือฟันกรามซี่ที่ 3 ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ  และมักฝังตัวอยู่ที่ขากรรไกรใต้เหงือกหลังบริเวณฟันกรามซี่ที่ 2  โดยฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากตัวฟันไม่ได้โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือก  จะต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถมองเห็นได้  

ทำไมต้องผ่าฟันคุด

          การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดเพื่อนำฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติออก  ซึ่งปกติแล้วหากฟันที่ฝังตัวอยู่นั้นไม่ก่ออาการรุนแรงจนเกินไป  ทันตแพทย์จะทำรักษาด้วยการตกแต่งเนื้อเยื่อโดยรอบ หรือแนะนำในเรื่องการรักษาความสะอาดช่องปากแก่ผู้ป่วยแทน   

          แต่ถ้าฟันคุดนั้นก่อให้เกิดปัญหา หรือการเอกซเรย์แสดงให้เห็นว่าฟันคุดส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่น ๆ อย่างชัดเจน หรือหากมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เกิดจากฟันคุดก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก  โดยสาเหตุที่อาจทำให้ทันตแพทย์ตัดสินใจผ่าฟันคุดออกมีดังนี้

–  สร้างความเสียหายให้กับฟันซี่อื่น ฟันคุดที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบต่อฟันโดยรอบได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดภายในช่องปาก หรือปัญหาในการกัดได้

–  ความเสียหายที่ขากรรไกร ฟันคุดอาจก่อให้เกิดถุงน้ำรอบ ๆ แล้วอาจทำให้บริเวณขากรรไกรนั้นถูกทำลายจนเป็นหลุมและทำลายเส้นประสาทที่บริเวณขากรรไกรได้

–  เหงือกอักเสบ เมื่อเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ฟันคุดเกิดการอักเสบ จะทำให้เกิดอาการบวมและยากต่อการทำความสะอาด

–  ฟันผุ   จากการเรียงตัวของฟันคุดที่เอียงทำให้ไม่สามารถทำความสะอาดได้ จนเกิดการสะสมของเศษอาหารและเชื้อแบคทีเรีย จนก่อให้เกิดฟันผุตามมา

–  การจัดฟัน  ฟันคุดสามารถส่งผลต่อการจัดฟันได้ ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้แนะนำว่าจำเป็นต้องเอาฟันคุดออกในช่วงใดของการจัดฟัน

หลังการผ่าฟันคุด

          หลังจากการผ่าตัดแพทย์อาจใส่ผ้าก๊อซไว้ที่บริเวณปากแผลและให้ผู้ป่วยกัดผ้าก๊อซไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง  วิธีนี้จะช่วยให้เลือดหยุดและเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้นภายใน ซึ่งจะช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น  ดังนั้นจึงไม่ควรนำออกหากเลือดยังไม่หยุดไหล  

ทั้งนี้แผลผ่าฟันคุดจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะเป็นปกติ  โดยในระหว่างการพักฟื้นผู้ป่วยอาจมีอาการต่อไปนี้

–  อาการบวมภายในช่องปากและแก้ม อาการบวมนี้จะค่อนข้างรุนแรงในช่วงวันแรก ๆ หลังจากผ่าตัด จากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งสามารถประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวมได้
– 
อาการเจ็บบริเวณขากรรไกร อาการจะค่อย ๆ ลดลงภายใน 7-10 วัน  แต่เหงือกบริเวณขากรรไกรจะยังคงมีรอยช้ำต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์
–  อาการปวด หากการผ่าฟันคุดมีความซับซ้อนหรือผ่ายากก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดค่อนข้างมาก  แต่ในบางเคสที่ฟันคุดตื้น ผ่าไม่ยาก  คนไข้อาจจะไม่รู้สึกปวดเลยก็ได้
–  รู้สึกถึงรสชาติไม่พึงประสงค์ภายในช่องปาก อาทิ รสชาติคาวเลือดที่ออกจากแผลซึ่งยังคงตกค้างอยู่
–  อาการเจ็บแปลบ ๆ หรือชาที่ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้น้อย โดยอาจเกิดขึ้นจากยาชาที่ตกค้าง หรือเกิดจากการถูกกระทบกระเทือนที่บริเวณปลายประสาท

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าฟันคุด

          โดยทั่วไปการผ่าฟันคุดจะมีการเย็บแผลด้วย ซึ่งทันตแพทย์จะนัดตัดไหมใน 7 วัน  ในระหว่างการพักฟื้นและรักษาตัว ช่วงวันแรก ๆ หลังจากการผ่าฟันคุดจะไม่สามารถรับประทานอาหารตามปกติได้  แต่ก็ไม่ควรอดอาหาร และควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วน เพราะจะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น

          ใน 1-2 วันแรกควรรับประทานอาหารนิ่ม ๆ หรือ อาหารเหลว และควรหลีกเลี่ยงการใช้หลอดดูดน้ำและการรับประทานอาหารร้อนหรือรสจัดจะดีที่สุด  นอกจากนี้อาหารที่รับประทานแล้วอาจตกค้างอยู่ในซอกฟันที่ผ่าตัดก็ควรหลีกเลี่ยง และเมื่อแผลเริ่มสมานตัวแล้วจึงเริ่มสามารถรับประทานอาหารตามปกติได้แต่ก็ควรเคี้ยวช้า ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือน ซึ่งการกลับมารับประทานอาหารได้ตามปกติ จะเร็วหรือช้าก็จะขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเองว่ารู้สึกดีขึ้นแล้วหรือยัง

อ้างอิงจาก :

HONESTDOCS. (2562). ผ่าฟันคุด เป็นอย่างไร? คู่มือการผ่าฟันคุดที่ครบถ้วนที่สุด. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นจาก https://www.honestdocs.co/tooth-extraction

POBPAD. ผ่าฟันคุด ทำไมต้องผ่า และผ่าอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นจาก https://www.pobpad.com/%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%94-%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B9%81%E0%B8%A5

error: Content is protected !!

ติดต่อนัดหมาย

คลิกที่ปุ่มติดต่อนัดหมายที่ท่านต้องการ

สาขา สุริยาตร์

สาขา ม.อุบล

สาขา ราษีไศล