Skip to content

ฟันเทียม

ฟันเทียม คืออะไร

          ฟันเทียม หรือที่เราเรียกกันว่า ฟันปลอม (จากนี้ผู้เขียนจะใช้คำว่าฟันปลอม) เป็นฟันที่ใส่แทนฟันที่หายไปจากการถอนหรือหลุดร่วง  โดยการใส่ฟันปลอมจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากการสูญเสียฟันได้  เช่น  ทำให้รับประทานอาหารและพูดคุยได้อย่างสะดวก, คอยพยุงแก้มและริมฝีปากไว้ไม่ให้หย่อนคล้อยลงไป  อีกทั้งยังช่วยให้กลับมาพูดคุยและยิ้มได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

ชนิดของฟันปลอม

          ฟันปลอมสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด หลักๆ ได้แก่

1.  ฟันปลอมชนิดถอดได้ 
          อาจใช้ทดแทนซี่ฟันที่หายไปเพียงบางซี่ หรือมากกว่านั้น  กรณีที่หายไปเพียงบางซี่ ทันตแพทย์จะกรอแต่งรูปร่างของฟันในบางตำแหน่งให้เป็นที่อยู่ของฐานฟันปลอมและตะขอ  เพื่อให้ฟันปลอมสามารถใช้งานได้โดยไม่หลุดออกจากปาก  หากเป็นกรณีที่ทำทั้งขากรรไกรก็อาจเป็นการพิมพ์ปากทั้งปาก เพื่อเสริมวัสดุเป็นฐานรากไม่ให้ฟันปลอมหลุด  ส่วนวัสดุที่ใช้ทำฟันปลอมมักทำจากอะคลิลิก (พลาสติก) หรือโลหะผสม 

2.  ฟันปลอมชนิดติดแน่น 
          มีหลายชนิด ถ้าใช้ในการซ่อมแซมฟันซี่ใดซี่หนึ่งเพียงซี่เดียวจะเรียกว่า “ครอบฟัน” แต่ถ้าหากใช้ทดแทนซี่ฟันที่หายไปด้วยจะเรียกว่า “สะพานฟัน”  ฟันปลอมชนิดนี้ทันตแพทย์จะกรอแต่งฟันซี่ข้างเคียงก่อนเพื่อสวมสะพานฟัน

3.  รากฟันเทียม 

          เป็นการรักษาเพื่อทดแทนซี่ฟันที่หายไปเพียงบางซี่ หลายซี่ หรือทั้งปาก  รากเทียมทำจากโลหะไทเทเนียมซึ่งมีคุณสมบัติเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อของมนุษย์   ทันตแพทย์จะจะผ่าตัดรากเทียมฝังไว้ในกระดูกขากรรไกรเพื่อทดแทนรากฟันธรรมชาติที่หายไปจากการถอนฟัน  จากนั้นจะรอระยะเวลาให้รากเทียมยึดติดกับกระดูกดีแล้ว  ทันตแพทย์จึงสามารถใช้รากเทียมเป็นฐานยึดครอบฟัน สะพานฟัน หรือฟันปลอมได้

การรับประทานอาหารเมื่อใส่ฟันปลอม

          การรับประทานอาหารในช่วงเริ่มใส่ฟันปลอมเป็นครั้งแรกนั้นอาจต้องฝึกเคี้ยวให้ชินเสียก่อน  คนไข้ที่ใส่ฟันปลอมบางรายอาจยังรับประทานได้ไม่ค่อยสะดวกใน 2-3 สัปดาห์แรก  จึงควรเริ่มจากการรับประทานอาหารชนิดอ่อน  ตัดเป็นคำเล็ก ๆ และเคี้ยวช้า ๆ โดยใช้ฟันทั้ง 2 ข้างเท่า ๆ กัน  เมื่อเริ่มเคยชินกับการใส่ฟันปลอมแล้วจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไปรับประทานอาหารชนิดอื่น  จนสามารถกลับไปรับประทานได้อย่างเป็นปกติในที่สุด  ทั้งนี้ควรระวังในการรับประทานอาหารร้อนและอาหารแข็ง  หลีกเลี่ยงอาหารที่เหนียวหรือแข็งเกินไป ร วมถึงการเคี้ยวหมากฝรั่งและการใช้ไม้จิ้มฟันขณะใส่ฟันปลอม

การดูแลรักษาฟันปลอม

          ไม่ว่าเป็นฟันปลอมชนิดใดก็ต้องมีการดูแลรักษาให้สะอาด  ปราศจากคราบเปรอะเปื้อนและดูดีอยู่เสมอ โดยวิธีการดูแลที่เหมาะสมทำได้ดังนี้

กรณีฟันปลอมแบบถอดได้

–  ถอดฟันปลอมออกล้างหลังจากรับประทานอาหาร ใช้น้ำชะล้างฟันปลอมเพื่อขจัดคราบอาหารที่ติดอยู่ออก และระหว่างนี้ควรระวังไม่ให้ฟันปลอมหลุดมือหรือตกจนแตกเสียหายได้
–  จับฟันปลอมอย่างระมัดระวังและเบามือ ป้องกันไม่ให้พลาสติกหรือตะขอของฟันปลอมโค้งงอหรือเสียหายขณะถอดออกมาล้างทำความสะอาด
–  ทำความสะอาดช่องปากหลังจากถอดฟันปลอมออกมาแล้ว โดยใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มทำความสะอาดฟันธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ และควรใช้ผ้าก๊อซหรือแปรงขนนุ่มทำความสะอาดลิ้น กระพุ้งแก้ม และเพดานปากด้วย
–  แปรงทำความสะอาดฟันปลอมอย่างน้อยวันละครั้ง ทำความสะอาดฟันปลอมอย่างอ่อนโยนด้วยการจุ่มหรือแปรงด้วยน้ำยาหรือเม็ดฟู่สำหรับทำความสะอาดฟันปลอมที่ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน เพื่อช่วยขจัดเศษและคราบอาหาร รวมถึงกาวติดฟันปลอมที่อาจเหลือติดค้างอยู่ตามร่องฟันปลอม ทั้งนี้ระวังอย่าใช้น้ำยาทำความสะอาดฟันปลอมในช่องปาก ให้ถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาดนอกปากเท่านั้น
–  แช่ฟันปลอมค้างคืน ฟันปลอมหลาย ๆ ชนิดจำเป็นต้องเก็บในที่ที่มีความชื้นเพื่อคงรูปร่างของฟันปลอมไว้ จึงควรแช่ฟันปลอมไว้ในน้ำเปล่าหรือน้ำยาแช่ฟันปลอมชนิดอ่อน ๆ ข้ามคืน อย่างไรก็ตามผู้ที่ใส่ฟันปลอมควรพูดคุยสอบถามทันตแพทย์ถึงวิธีการเก็บรักษาหรือแช่ฟันปลอมที่เหมาะสม และทำความสะอาดและแช่ฟันตามคำแนะนำของผู้ผลิตหรือแพทย์ที่ติดฟันปลอมให้จะดีที่สุด
–  หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์กัดกร่อน และยาสีฟันที่ช่วยให้ฟันขาวหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารฟอกสีฟัน เพราะอาจทำให้ฟันปลอมเสียหายและมีสีหมองคล้ำลง และผงขัดจากยาสีฟันจะทำให้ฟันปลอมเป็นรอยได้ รวมถึงการใช้น้ำร้อนที่จะส่งผลให้ฟันปลอมเกิดการบิดงอได้
–  ล้างฟันปลอมก่อนใส่กลับเข้าไปในปาก โดยเฉพาะหากฟันปลอมนั้นถูกแช่ในสารละลายสำหรับแช่ฟันปลอม เนื่องจากสารละลายที่ใช้แช่นี้อาจมีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายและอาจมีผลข้างเคียงให้อยากอาเจียน มีอาการเจ็บหรือแสบร้อนเมื่อกลืนลงไปได้
–  ไปพบทันตแพทย์หากรู้สึกว่าฟันปลอมไม่พอดีหรือเริ่มหลวม เนื่องจากฟันปลอมที่หลวมนั้นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บปวด ระคายเคือง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา
–  ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอ 

กรณีฟันปลอมแบบติดแน่นและรากฟันเทียม

–  ให้ดูแลเหมือนฟันธรรมชาติด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน เนื่องจากหากทำความสะอาดไม่ดีอาจเกิดรอยผุได้  และการเกิดคราบพลัคสะสมจนเป็นโรคเหงือกซึ่งจะมีผลทำให้กระดูกรอบๆรากเทียมเสื่อมสภาพ จนสุดท้ายรากเทียมไม่สามารถคงอยู่ในกระดูกได้ต้องถูกเอาออกไป

อ้างอิงจาก :

HONESTDOCS. (2563). ฟันปลอม. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นจาก https://www.honestdocs.co/denture

อ.ทพญ.ดร.นวภรณ์ จิตตภิรมย์ศักดิ์. (2556). ข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันปลอม. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นจาก https://www.info.dent.nu.ac.th/dentalHospital/index.php/2012-09-18-18-57-27/8-2013-03-25-09-21-57/35-2013-06-18-04-53-22

POBPAD. ฟันปลอม ประเภทและวิธีการรักษา. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นจาก https://www.pobpad.com/%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2

error: Content is protected !!

ติดต่อนัดหมาย

คลิกที่ปุ่มติดต่อนัดหมายที่ท่านต้องการ

สาขา สุริยาตร์

สาขา ม.อุบล

สาขา ราษีไศล